10 นิสัย ที่เรียนรู้จากเหล่า Startup ที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก !! [มีคลิป]

จากการศึกษา Startup ที่เติบโตเร็วที่สุดในโลกหลาย ๆ บริษัท เพื่อดูว่าทำไมบริษัทเหล่านี้ถึงเติบโตได้เร็วมาก สรุปมาเป็น 10 นิสัยที่เราก็เริ่มทำได้ตั้งแต่วันนี้

เดี๋ยวนี้การเริ่มทำ Startup ง่ายขึ้นมากในไทย เพราะมีงานต่าง ๆ ให้พบปะหาคนร่วมทีมที่มี Passion มาทำด้วยกัน แต่สิ่งที่ Startup มือใหม่ไม่รู้ ก็คือ… จะทำยังไงให้ Startup ของเราเติบโตได้อย่างรวดเร็ว

ล่าสุด ผมได้ดูวีดิโอของคุณ Sean Ellis ซึ่งเป็น Growth Hacker ชื่อดังที่คิดค้นคำว่า “Growth Hacking” ขึ้นมาเป็นคนแรก เค้าเคยทำงานใน Startup ดัง ๆ อย่าง Dropbox, Eventbrite ตั้งแต่เริ่มตั้งบริษัท ไปจนถึงช่วงที่บริษัทเข้าตลาดหุ้น IPO

เค้า ได้ทำการศึกษา Startup ที่เติบโตเร็วที่สุดในโลกหลาย ๆ บริษัท เพื่อดูว่าทำไมบริษัทเหล่านี้ถึงเติบโตได้เร็วมาก และสรุปมาเป็น 10 นิสัยที่เราต้องทำ หากต้องการให้ Startup ของเราเป็นแบบนั้นบ้าง

วีดิโอ 10 Habits of High-Growth Startups

สำหรับ ท่านที่ต้องการฝึกภาษาอังกฤษ สามารถกดดูคลิปด้านล่างได้เลยครับ คำพูดของคุณ Sean Ellis ค่อนข้างฟังง่ายครับ ความยาววีดิโอแค่ 23 นาทีครับ

https://youtube.com/watch?v=nlqo3GLNk2A

ส่วนท่านที่ไม่มีเวลาดูวีดิโอ หรือดูแล้วสงสัยที่หัวข้อไหน ทางทีมงาน GrowthBee ได้สรุปเนื้อหามาให้อ่านกันง่าย ๆ ด้านล่างแล้วครับ เชิญอ่านกันได้เลย (ถ้าชอบ รบกวนกดไลค์ กดแชร์ เป็นกำลังใจให้เว็บเปิดใหม่กับทีมงานกลุ่มเล็ก ๆ นี้ครับ)

10 นิสัย ของ Startup ที่มีการเติบโตเร็วที่สุดในโลก

นิสัยที่ 1) หา Product/Market Fit ให้ได้ก่อน

Startup หลายแห่งพยายามหาวิธีเติบโต Growth Hacking ต่าง ๆ โดยไม่รู้ว่าสิ่งที่สำคัญจริง ๆ คือ Product/Market Fit

บทความแนะนำ: Product/Market Fit คืออะไร? ศัพท์ที่คนทำ Startup ต้องรู้

ถ้า Product ที่เรากำลังสร้างขึ้นไม่เป็นที่ต้องการของตลาด และไม่ตอบโจทย์ปัญหาที่คนใช้พบจริง ๆ ก็ยากที่จะเติบโตขึ้นไปอีกได้ เพราะฉะนั้นคุณ Sean Ellis แนะนำว่าต้องออกไปคุยกับกลุ่มลูกค้าของเราบ่อย ๆ เพื่อศึกษาว่า Product ของเราดีจริงมั้ย

เมื่อเรารู้ว่า Product ของเราตอบโจทย์แล้ว ถึงจะเริ่มไปคิดการทำให้มันเติบโต

นิสัยที่ 2) ถามคำถามลูกค้าบ่อย ๆ

วลีเด็ดของ Lean Startup "เดินออกจากตึก (ไปคุยกับผู้คน) เดี๋ยวนี้ !"
วลีเด็ดของ Lean Startup “เดินออกจากตึก (ไปคุยกับผู้คน) เดี๋ยวนี้ !” – รูปจาก LEANUXTOOLS.COM

เราต้องตอบให้ได้ว่า ทำไมอยู่ ๆ คนบางคนจะอยากลองใช้สินค้าเรา เราแจกฟรีหรือเปล่า หรือมีการโปรโมทช่องทางไหนบ้าง และพอเค้าใช้แล้วก็ต้องไปสืบหาให้ได้ว่าใครชอบ ใครไม่ชอบบ้าง

เมื่อเรารู้แล้วว่าใครชอบ ใครไม่ชอบ ก็ให้ไปหาต่อว่ากลุ่มคนที่ชอบนั้นคิดว่า Product ของเรามีความจำเป็นกับเค้ามากแค่ไหน

คุณ Sean Ellis บอกว่า ถ้ามีแค่ 10% ที่บอกว่า “ขาด Product เราไม่ได้” (Must have) ส่วนอีก 90% บอกว่า “ถ้ามีก็ดี” (Nice to have) แปลว่า Product ของเรายังไม่ดีพอ หรือเราอาจจะกำลังตั้งกลุ่มเป้าหมายผิดก็ได้

ลองเข้าไปสืบหาอีกว่า 10% ที่ขาด Product เราไม่ได้ เค้าเป็นใคร อาชีพอะไร เป็นกลุ่มคนแบบไหน และใช้ Product เราทำอะไรในชีวิตเค้าบ้าง เพื่อให้เราสามารถ Reposition ตัว Product ของเราให้ไปในทิศทางที่ถูกต้องได้

เพราะฉะนั้น… ถามบ่อย ๆ ครับ ถามให้เยอะ อย่ากลัวที่จะถาม เพราะกลุ่มคนที่ใช้ Product เราเค้าก็อยากได้ Product ที่แก้ปัญหาในชีวิตของเค้าได้เช่นกัน

นิสัยที่ 3) ใช้เครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูลให้เหมาะสม

Growth Hacking Funnel (AARRR)
Growth Hacking Funnel (AARRR)

เดี๋ยวนี้มีเครื่องมือในการเก็บข้อมูล / วิเคราะห์ข้อมูล (Analytics Tool) ออกมาเยอะมากครับ เพราะฉะนั้นเราควรทำความรู้จักแต่ละตัวไว้ เพื่อจะดึงมาใช้วิเคราะห์ได้ในแต่ละส่วน

ถ้ายังจำ บทความเรื่อง Growth Hacking Funnel ของ @notsu ได้ จะเห็นว่าในแต่ละ Stage จะมีการเก็บข้อมูลแตกต่างกันไป ซึ่งจะใช้แค่ Google Analytics ก็เก็บไม่ได้หมด

เครื่องมือที่คุณ Sean Ellis แนะนำให้ลองไปศึกษาดู คือ Mixpanel และ KISSmetric ครับ ผมเคยลองเล่นกับ Mixpanel มาก่อน เป็นตัวเก็บข้อมูล / วิเคราะห์ข้อมูลที่ฉลาดมาก และเก็บแยกได้ถึงระดับ User ต่อ User เลยครับ เหมาะมากกับธุรกิจแนว SaaS (Software as a service)

เลือกเครื่องมือในการเก็บข้อมูลให้เหมาะสมกับแต่ละ Stage แล้วชีวิตจะสบายขึ้นเยอะมากครับ

นิสัยที่ 4) ปรับปรุง Conversion ให้บ่อยเข้าไว้

Startup ที่เติบโตอย่างรวดเร็วจะสนใจเรื่อง Conversion มาก สำหรับคนที่ยังไม่รู้ Conversion Rate คือ % ของคนที่ทำสิ่งที่เราต้องการ เทียบกับคนทั้งหมด เช่น ปุ่มซื้อของสีแดง Conversion Rate = 5% แปลว่า ทุก ๆ 100 คนที่เจอปุ่มซื้อของสีแดง จะกดปุ่ม 5 คน

ซึ่งวิธีในการเพิ่ม Conversion Rate ให้ดีขึ้น มีอยู่ 2 วิธีหลัก ๆ ดังนี้:

  1. เพิ่มความต้องการใน Product ให้คนอยากลองมากขึ้น เมื่อคนลอง Product มากขึ้น ก็มีโอกาสที่คนจะจ่ายเงินให้เรามากขึ้น
  2. ลดสิ่งที่จะทำให้คนไม่อยากลอง Product ของเราออกไป

การเพิ่ม Growth ให้ Startup ของเราขึ้นอยู่กับ Conversion Rate ด้วย เพราะฉะนั้นเราถ้าเราเพิ่ม Conversion Rate ไม่ได้ ก็เติบโตไม่ได้

คุณ Sean Ellis เคยทำ Mobile App ที่ยอดคนใช้ต่ำมาก เพราะใน 100 คนที่ดาวน์โหลดไป มีไม่กี่คนที่ได้ลองใช้จริง ๆ เค้ากับทีมเลยใช้เวลากว่า 4 เดือนในการเพิ่ม Conversion Rate และทำให้คนใช้งานเพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่า สร้างรายได้หลายล้านดอลลาห์ให้บริษัท

นิสัยที่ 5) Growth เป็นเรื่องของทุกคนในทีม

อยากเล่นดนตรีให้เพราะ ต้องเล่นเป็นวงครับ... Growth ของบริษัทก็เช่นกัน
อยากเล่นดนตรีให้เพราะ ต้องเล่นเป็นวง… Growth ของบริษัทก็เช่นกัน

Startup ที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก ล้วนแล้วแต่ปลูกฝังเรื่องของ “การเติบโต (Growth)” ให้คนในทีม โดยจะมีการให้ทุกคนในทีมที่รับผิดชอบคนละเรื่องกัน มาช่วยออกไอเดียด้าน Growth ของบริษัท

สิ่งที่จะได้มา คือ ไอเดียที่หลากหลาย และสอดคล้องกับ Startup ในแต่ละด้าน เช่น ไอเดียจากทีม Support ลูกค้า ก็จะเป็นไอเดียที่ทำให้ลูกค้ามีความสุข ส่วนไอเดียจากทีมวิศวกร ก็จะเน้นสิ่งแปลกใหม่ หรือการค้นคว้าลึก ๆ

การจะทำให้ได้ไอเดียที่ดีที่สุด ต้องมีความโปร่งใสในการทำ Growth Hacking ของบริษัท บอกทุกคนว่าไอเดียแบบไหนที่เคยทำแล้วเวิร์ค หรือเคยทำแล้วไม่เวิร์ค เพื่อให้ทุกคนมีฐานการคิดเท่า ๆ กัน และสร้างวัฒนธรรมเกี่ยวกับการ Growth ให้กับทุกคนได้ในที่สุด

นิสัยที่ 6) ไม่มีใครรู้ว่าไอเดียไหนดีหรือไม่ดี ต้องทดลองเท่านั้น

หลาย ๆ ครั้งที่ไอเดียเด็ด ๆ ที่คิดว่าน่าจะดี แต่ผลกลับออกมาไม่ดี หรือบางไอเดียฟังดูไม่ดี แต่ผลออกมากลับดีมาก วิธีเดียวที่เราจะรู้ได้ ก็ต้องเอาไอเดียนั้นมาทดลอง implement เข้าไปเท่านั้น

ในการทดลอง อย่าโฟกัสแค่เรื่องการนำคนเข้ามา (Acquisiton) ที่ทีม Marketing สนใจเท่านั้น แต่ต้องทดลองเรื่อง Retention, Revenue etc. ด้วย (ดูในบทความ Growth Hacking Funnel) เราอาจจะเจอกุญแจสำคัญที่ทำให้ Startup เราเติบโตแบบก้าวกระโดดก็ได้

ถ้า Startup ไหนที่ทำการทดลองบ่อย ๆ จนติดเป็นนิสัยแล้ว แม้ไม่มีคนที่ทำงานด้าน Growth ดูแลก็จะยังสามารถทดลองและปรับปรุงตัวเองไปเรื่อย ๆ ได้ คุณ Sean Ellis ลาออกจาก Dropbox มาเป็นปี กว่าจะมีคนที่ดูแลเรื่อง Growth คนใหม่เข้าไปทำงาน แต่คนในบริษัทก็ยังทำการทดลองใหม่ ๆ เองโดยไม่ต้องมีคนสั่ง

นิสัยที่ 7) ให้ทรัพยากรที่จำเป็น กับทีมที่ดูแลเรื่อง Growth

ทีม Growth อาจจะมีไอเดียดี ๆ เป็นร้อยเป็นพัน... แต่ไอเดียเหล่านั้นก็เป็นได้แค่ตัวหนังสือ ถ้าไม่มีคนทำ
ทีม Growth อาจจะมีไอเดียดี ๆ เป็นร้อยเป็นพัน… แต่ไอเดียเหล่านั้นก็เป็นได้แค่เส้นบนกระดาษ ถ้าไม่มีคนทำ

ในบางบริษัท ฝ่ายที่ดูแล Growth หรือ Marketing ก็ได้แต่คิดไอเดีย สันนิษฐานสิ่งต่าง ๆ โดยไม่มี Developer มาช่วยทำไอเดียเหล่านั้นมาทดลอง จึงทำให้การเติบโตไม่ดีเท่าที่ควร

แต่ใน Startup ที่เข้าใจเรื่องการเติบโต จะมี Developer ที่คอยเขียนโปรแกรมการทดลองใหม่ ๆ ให้กับฝ่ายที่ดูแลด้าน Growth โดยเฉพาะ ทำให้เจอกุญแจสำคัญในการเติบโต Startup นั้นได้เร็วมาก

ฝ่ายที่ดูแล Growth ควรจะได้รับอนุญาต และสามารถเข้าถึง / แก้ไขตัว Core Product และ Landing Page ต่าง ๆ บนหน้าเว็บไซต์ได้ เพื่อให้พวกเค้าสามารถ implement ไอเดียใหม่ ๆ ลงไปเองได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตให้วุ่นวาย

นิสัยที่ 8) ทดลองให้ร..เร็วที่สุด !

Startup ที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก ล้วนมีการตั้งเป้าหมายในแต่ละอาทิตย์ และหาไอเดียใหม่ ๆ มาทดลองอยู่เสมอเพื่อให้ไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ให้เร็วที่สุด ตัวอย่างเช่น Startup ตัวหนึ่งชื่อ Sidekick ทำการทดลองใหม่ ๆ 30 ครั้ง / อาทิตย์

ถึงแม้การทดลองแบบเร็ว ๆ นี้จะทำให้ Product ของเราเติบโตขึ้นแค่ทีละนิด ๆ แต่พอทบกันไปเรื่อย ๆ ก็จะกลายเป็นการเติบโตที่ยิ่งใหญ่ และบางทีเราก็จะเจอกับ Jackpot ที่ไม่มีใครคาดคิด ซึ่งอาจจะเป็นไอเดียง่าย ๆ ที่ทำให้ Startup ของเราเติบโต 10 เท่าในเดือนเดียวก็ได้

ตัวอย่างเช่น เว็บไซต์ Growthhackers.com มีการทดลองสิ่งต่าง ๆ บ่อยมาก มีครั้งหนึ่งที่เค้าทดลอง implement การเปลี่ยนตำแหน่งกล่องง่าย ๆ ใช้เวลาแค่ 30 นาที และไม่มีใครคิดว่ามันจะได้ผลอะไร (คนในทีมโหวตกันว่าโอกาสจะได้ผลมีแค่ 4/10) แต่กลายเป็นว่าการเปลี่ยนตำแหน่งกล่องทำให้มีคนกรอกอีเมลเพิ่มขึ้นถึง 700% !!

สิ่งที่เค้าเรียนรู้ก็คือ ความเร็วในการทดลองเป็นกุญแจสำคัญ เพราะพวกเขาเสียเวลา implement อย่างอื่นไปเป็น 10 อย่าง ใช้เวลาเป็น 100 ชั่วโมงแต่ไม่ช่วยอะไรเลย พอมาลอง implement อะไรง่าย ๆ แบบนี้กลับให้ผลที่พวกเขาต้องอึ้ง !! (ทดลองพูดแบบเว็บแนวซ่า ๆ)

นิสัยที่ 9) ให้ความสำคัญกับ Input ให้มาก

Slack โปรแกรมสำหรับคุยในทีม ที่คุณ Sean Ellis ใช้
Slack โปรแกรมสำหรับคุยในทีม ที่คุณ Sean Ellis ใช้

คนส่วนใหญ่ชอบมองแต่ Output แต่ไม่ได้คำนึงกว่าวิธีการจะได้ Input เข้ามาก็สำคัญไม่แพ้กัน

ตัวอย่างเช่น บริษัทแห่งหนึ่งตั้งเป้าว่าจะ Growth 20% ในปีนี้ พอทำไม่ได้ก็ไล่ Marketing Team ออก แล้วจ้างทีมใหม่มาดูแลแทน ซึ่งก็ไม่รู้ว่าทีมใหม่จะทำได้ไหม แบบนี้เป็นการตั้งเป้าที่ไม่ดี ควรจะต้องบอกว่าอยาก Growth 20% ในปีนี้ แล้วจะมีการทดลองกี่ครั้งต่อเดือน มีใครเป็นคนคิดไอเดียการทดลอง แล้วถ้าการทดลองไม่ได้ผล จะมีแผนอย่างไรในการหาไอเดียใหม่ ๆ

สิ่งที่คุณ Sean Ellis ทำเพื่อให้ได้ Input ที่ดี คือ มีการจัดอันดับใน Slack ของทีมทุกเดือน ว่าใครในทีมคิดไอเดียเยอะสุดในเดือนนั้น เพื่อให้คนในทึมอยากเสนอไอเดียใหม่ ๆ จะได้ติดอันดับสูง ๆ

นิสัยที่ 10) ทำให้สิ่งที่ประสบความสำเร็จแล้ว ยิ่งสำเร็จมากกว่าเดิม

เมื่อเรารู้แล้วว่า Product ของเราประสบความสำเร็จในเงื่อนไขไหน ก็ให้เอามันมา Reverse Engineer คิดให้ออกว่า “ทำไม” เงื่อนไขนั้นจึงประสบความสำเร็จ

ยิ่งเราศึกษา Success Case เยอะขึ้น ก็จะได้เรียนรู้ว่าอะไรเวิร์ค อะไรไม่เวิร์คกับ Startup ของเรา และจะเกิดไอเดียการทดลองที่ดีขึ้นในที่สุด ซึ่งเป็นหนทางไปสู่การเติบโตแบบก้าวกระโดดของ Startup ของเรา

สรุป 10 นิสัย ของ Startup ที่เติบโตเร็วที่สุด

นิสัยที่ 1) หา Product/Market Fit ให้ได้ก่อน

นิสัยที่ 2) ถามคำถามลูกค้าบ่อย ๆ

นิสัยที่ 3) ใช้เครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูลให้เหมาะสม

นิสัยที่ 4) ปรับปรุง Conversion ให้บ่อยเข้าไว้

นิสัยที่ 5) Growth เป็นเรื่องของทุกคนในทีม

นิสัยที่ 6) ไม่มีใครรู้ว่าไอเดียไหนดีหรือไม่ดี ต้องทดลองเท่านั้น

นิสัยที่ 7) ให้ทรัพยากรที่จำเป็น กับทีมที่ดูแลเรื่อง Growth

นิสัยที่ 8) ทดลองให้ร..เร็วที่สุด !

นิสัยที่ 9) ให้ความสำคัญกับ Input ให้มาก

นิสัยที่ 10) ทำให้สิ่งที่ประสบความสำเร็จแล้ว ยิ่งสำเร็จมากกว่าเดิม

ลองเอานิสัย 10 อย่างนี้ไปปรับใช้กับ Startup ของคุณดูครับ หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์นะครับ

สุดท้ายนี้ ถ้าท่านสนใจเทคนิคดี ๆ ในการพัฒนาธุรกิจ / Startup ของคุณ และอยากอ่านบทความใหม่ ๆ จากเราก่อนใคร สามารถทำการลงทะเบียน Email ในกล่องสีเหลืองด้านล่างนี้ได้ครับ

ถ้าชอบ รบกวนกดไลค์ กดแชร์ เป็นกำลังใจให้เว็บเปิดใหม่กับทีมงานกลุ่มเล็ก ๆ นี้ครับ

ความเห็น

Get the best of The Finth in your inbox.

You may opt-out anytime by clicking “unsubscribe” from the newsletter or from your account. Contact The Finth at any time.