ปัจจุบันคงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมเครือข่าย (Social Network) นั้นเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของมนุษย์ไปอย่างมาก ทั้งในเรื่องของการติดตามข่าวสาร การติดตามเพื่อน หรือติดตามสิ่งที่เขาเหล่านั้นสนใจ
เหล่าแบรนด์ต่าง ๆ ก็เริ่มหันมาจับตลาดสังคมเครือข่ายมากขึ้น ซึ่งเป้าหมายก็อาจจะต่างกันไป เช่น สร้างยอดขาย หรือสร้างความตระหนัก (Awareness) ให้กับแบรนด์ เป็นต้น โดยใช้วิธีที่เราเรียกกันว่า Content Marketing
บทความแนะนำ: Content Marketing คืออะไร ? สรุปทุกอย่างที่คุณต้องรู้
ซึ่งเราจะเห็นว่ามีหลายวิธีที่แบรนด์ทั้งหลายใช้บนสังคมเครือข่าย เช่น การลงโฆษณา การสร้างชุดรูปภาพเล่าเรื่อง (Photo series) หรือการสร้างคลิปที่เป็นไวรัล เพื่อทำให้เกิดการสร้าง Conversation โดยการแชร์มากขึ้น
Jonah Berger ผู้เขียนหนังสือ “Why Things Catch On” ซึ่งเป็นหนังสือที่พูดถึงว่าทำไมคนถึงสนใจ Content ต่าง ๆ หรือ ทำไมคนถึงชอบแชร์คลิปที่เป็นไวรัล
ผู้เขียนหนังสือได้สรุปไว้ว่า Content ที่จะทำให้คนแชร์ได้นั้น ส่วนมากจะเป็น Content ที่มีเนื้อหาอยู่ใน 6 กลุ่ม ที่เขาเรียกว่า “STEPPS”
ซึ่งประกอบไปด้วย
- Social Currency
- Triggers
- Emotion
- Public
- Practical Value
- Stories
Social Currency
Social Currency คือ เนื้อหาที่ทำให้ตัวเองดูดีในโลกสังคมเครือข่าย ยกตัวอย่างเช่น เวลาที่เราซื้อกาแฟแพง ๆ หรือกินร้านอาหารดี ๆ เราก็มักจะถ่ายรูปลง Social Network เพราะเราอยากโชว์ว่าเรากำลังกินของดี ๆ หรือว่ากินของที่แพงมาก ๆ อยู่ นั่นเอง หรือการแชร์บทความต่าง ๆ ที่ทำให้เราดูเป็นคนดี หรือทำให้เราดูดี เช่น บทความเกี่ยวกับการออกกำลังาย, เนื้อหาเกี่ยวกับธรรม หรือคำคมสร้างแรงบันดาลใจต่าง ๆ เป็นต้น
Trigger
Trigger คือ เนื้อหาที่เอาเหตุการณ์บางอย่างในชีวิตจริงใส่ลงไปด้วย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือเนื้อหาประเภทเพลง เช่น เพลงคืนข้ามปี ที่ต้องเปิดในวันปีใหม่ หรือเพลงหากันจนเจอ ที่เป็นเพลงประจำชาติของงานแต่ง หรือเพลงเพื่อนกันตลอดไป ที่มักจะเปิดในงานปัจฉิม เป็นต้น
หรือตัวอย่างเช่นเพลง Friday เป็นเพลงที่มียอด Dislike มากกว่ายอด Like ถึงเท่าตัว แต่พอเข้าไปดูในสถิติการดูของเพลงนี้แล้ว จะพบว่ายอดผู้ชมจะสูงขึ้นทุก ๆ วันศุกร์
Emotion
Emotion คือ เนื้อหาที่ส่งผลต่ออารมณ์ของคนรับสาร เช่น อารมณ์ตลก เศร้า ซึ้ง ถ้าเป็นในไทย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือโฆษณาของไทยประกันชีวิต ที่มีเนื้อหาดึงอารมณ์ของคนดู จึงทำให้เกิดการแชร์อย่างหลากหลาย ในขณะเดียวกันโฆษณาของเมืองไทยประกันชีวิต ก็จะเน้นแนวตลก ซึ่งก็ได้รับการแชร์อย่างล้นหลามเช่นกัน
ตัวอย่างวีดิโอด้านล่าง คือ วีดิโอที่เล่นกับ Emotion ของผู้ชมได้อย่างเยี่ยมยอดครับ ผมถึงกับปาดน้ำตาเลยทีเดียวตอนดูครั้งแรก
Public
Public คือ เนื้อหาที่เป็นกระแสของคนส่วนใหญ่ หรือกำลังเป็นกระแสในสังคม ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่ผ่านมา ก็คือข่าวของเสี่ยเบนซ์ เราบางคนตอนแรกก็ไม่ได้สนใจเรื่องนี้ แต่พอเป็นกระแสหนัก ๆ คนเริ่มแชร์เยอะ เพจนู้นเพจนี้เอามาแชร์บ้าง หรือเขียนการ์ตูนแซวบ้าง เราก็เริ่มสนใจ เริ่มติดตาม เป็นต้น
ซึ่งการเล่นข่าวเกาะกระแสนี่ Effective มากถึงขนาดที่เวลามีข่าวดัง ๆ โผล่มาทีเว็บสำนักข่าวถึงกับล่มกันกระจายครับ
Practical Value
Practical Value คือ เนื้อหาที่เป็นประโยชน์ต่อผู้รับสาร หรือเป็นประโยชน์ต่อคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นบทความที่คุณกำลังอ่านอยู่นี้ หรือบทความอื่น ๆ ใน GrowthBee ก็คือว่าเป็นเนื้อหาที่เป็น Practical Value เช่นกัน ตัวอย่างอื่น ๆ ที่พบเห็นกันได้บ่อยก็เช่นบทความประเภท “How to”, “10 สิ่ง….”, “รู้หรือไม่…” เป็นต้น
Stories
Stories คือการเอาสินค้า หรืออะไรบางอย่างมาสร้างเรื่องราวให้น่าสนใจมากขึ้น ตัวอย่างเช่น บริษัทขายเครื่องปั่นยี่ห้อหนึ่ง เขาสร้างเรื่องราวของเครื่องปั่นยี่ห้อนี้โดยการเอาโทรศัพท์มือถืออย่าง iPhone หรือ Samsung เข้าไปปั่นในเครื่องและอัดวิดีโอลง Youtube ซึ่งทำให้เกิดการแชร์อย่างล้นหลาม เป็นต้น
ลองดูวีดิโอด้านล่างกันดูครับ ดูทีไรผมก็เสียดายของทุกที TT___TT
เพราะฉะนั้น ครั้งต่อไปที่จะเขียนเนื้อหาอะไรสักอย่าง ลองสำรวจดูว่าเนื้อหาของเราเข้าข่าย 6 STEPPS บ้างหรือเปล่า เพื่อจะได้เพิ่มยอดแชร์ หรือสร้าง Converstion ให้มากขึ้นครับ
หวังว่าทุกท่านที่ทำ Content Marketing จะได้ประโยชน์ไปไม่มากก็น้อยครับ และหากไม่อยากพลาดบทความดี ๆ เกี่ยวกับการทำ Growth Hacking สามารถติดตามข่าวสารทางอีเมลได้ในช่องด้านล่าง หรือ แวะมาคุยกันที่ Facebook Page ของเราได้เลยครับ
นอกจากนั้นเรายังมี Thai Growth Hackers Facebook Group ด้วยนะครับ มา Join กันได้เลย