ปฏิเสธไม่ได้ว่าการทำ Startup ของตัวเองนั้นเป็นฝันของใครหลาย ๆ คน จากที่ผมเคยคุยมาไม่ว่าจะเด็กจบใหม่ หรือแม้แต่รุ่นพี่ผู้มากประสบการณ์ก็ยังสนใจเข้ามาร่วมวง อยากตามล่าหาเงินล้านจาก VC (Venture Capital) ทั้งที่จริง ๆ การลงทุนของ VC ไม่ได้เป็นเรื่องดีเสมอไป
ทางทีมงาน GrowthBee.com ได้มีโอกาสไปร่วมฟังงาน Startup “ต้องรอด” Bootstrap Thai Style ซึ่งเป็นงานส่งท้ายปีของ Thailand Tech Startup Association
บทความแนะนำ: สรุปงาน “ชีวิต-ติด-วัด” Measurable Metrics for Startup
ในช่วงเวลา 3 ชั่วโมงของงานนี้ก็ได้ฟังประสบการณ์และข้อคิดเด็ด ๆ มากมายที่จะเป็นประโยชน์สำหรับคนทำ Startup ทุกคน จึงถือโอกาสมาเล่าให้ฟังกันครับ
แนะนำ 7 วิทยากรมากประสบการณ์ Startup “ต้องรอด”
เป็นเรื่องจริงที่ว่า Startup เกิดแก่เจ็บตายกันนับไม่ถ้วนในช่วงหลายปีที่ผ่านมาครับ ซึ่งธุรกิจที่อยู่รอดกันจริง ๆ อาจจะไม่ถึง 10% ด้วยซ้ำ
ในงานวันนี้จึงมีเจ้าของ Startup 7 ท่านมาเล่าให้ฟังว่าเค้าทำอย่างไรกันบ้างถึงรอดมาได้ โดยแบ่งเป็น 2 Session หลัก ๆ ดังนี้ครับ
Session แรก เป็นเรื่องของ Startup ที่กำลังจะรอด (3 ท่านแถวบน) คือมีเงินทุนเบื้องต้นแล้ว อาจจะทุนส่วนตัวหรือ Seed Fund และกำลังตามหา Product/Market Fit อยู่ เค้าก็จะมาเล่าให้ฟังว่ามาถึงจุดนี้ได้ยังไง
Session ที่สอง เป็นเรื่องของ Startup ที่รอดแล้ว (4 ท่านแถวล่าง) เค้าก็จะมาเล่าให้ฟังถึงประสบการณ์หลากหลายแบบว่าขอเงินทุนยังไง ได้เงินทุนจาก VC แล้วเป็นอย่างไรบ้าง การจะ Exit มีอุปสรรคอย่างไร
เนื่องจากในงานนี้เป็นลักษณะถาม – ตอบสลับไปมา เพื่อความเข้าใจง่าย ผมจะสรุปเนื้อหาของวิทยากรแต่ละท่านมาให้นะครับ และถ้ามีศัพท์เทคนิคตรงไหนจะพยายามอธิบายกำกับไว้ให้เข้าใจกันง่ายที่สุดครับ
Session 1.1 – Startup “ต้องรอด” ฉบับ Flow Account
FlowAccount เป็น Startup โปรแกรมบัญชีออนไลน์ ที่ออกแบบมาให้ใช้งานง่ายสำหรับฟรีแลนซ์ หรือ SMEs (Small & Medium Enterprises – ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง) ครับ
ในงานนี้ คุณบิ๊ก จาก Flow Account มาเล่าให้ฟังว่าเค้าเริ่มศึกษาการทำ Startup มานานมาก ไปตามงานสัมมนา Startup ต่าง ๆ มาก็บ่อย เพื่อดูว่าแต่ละ Startup เค้าทำยังไง เริ่มยังไง
โดยได้เข้าร่วมโครงการ Startup Next (เป็นโครงการที่จะมีเจ้าของ Startup ดัง ๆ มาเป็น Mentor ช่วยให้เราสร้างธุรกิจออกมาใน 5 อาทิตย์) ก่อนจะออกมาเป็นธุรกิจตัวนี้
คุณบิ๊กเล่าว่า อุปสรรคสำคัญในการทำ Startup คือ การหาเพื่อนร่วมอุดมการณ์ที่แข็งแกร่งพอ ไม่อย่างนั้นการที่จะทำธุรกิจแล้วไปรอดนี่ยากมาก
ซึ่งกว่าคุณบิ๊กจะมาถึงจุดนี้ก็ผ่านอะไรมาเยอะมาก ก่อนหน้านี้เค้าทำงานประจำอยู่ แล้วก็ออกมาเพื่อทำ Product ของตัวเอง เสร็จแล้วพอ Product ไปไม่รอดก็กลับไปทำงานประจำใหม่ แล้วก็ออกมาทำ Product ของตัวเองอีก เข้าลูปนี้ไป 3-4 รอบ ก่อนจะท้อ หมดไฟ แล้วตัดสินใจเลิกเขียนโปรแกรม ไปหัดเล่นกีตาร์เป็นนักดนตรีแทน
พอเล่นดนตรีไปก็เริ่มฟอร์มวง ชีวิตกำลังดี แต่ก็เกิดวงแตกกระทันหัน เลยตัดสินใจไปแสวงบุญที่อินเดีย 2 ปีให้รู้แล้วรู้รอด
จากนั้นจึงกลับไทยมาทำงานประจำ แล้วได้เจอกับ Co-founder อีกคน จึงมาทำ Flow Account ด้วยกันในที่สุด
คำแนะนำสำหรับ Startup มือใหม่ จาก Flow Account
คุณบิ๊กแนะนำว่าให้ทำ Product ที่คนต้องการก่อน ซึ่ง Flow Account ก็ตอบโจทย์ เพราะในไทยยังไม่มีธุรกิจใหญ่ที่ทำด้านเดียวกันนี้
เนื่องจากเป็น SaaS (Software as a Service) ก็ต้องมีการอัพเดทฟีเจอร์ใหม่เรื่อย ๆ เพื่อรักษาลูกค้า เค้าก็แนะนำว่าให้เลือกปล่อยฟีเจอร์ที่สำคัญกับคนใช้ให้เร็วที่สุด
(ขอเสริมเพิ่มเติมจากหนังสือ How Google Works ที่ผมเพิ่งอ่านจบมา เค้าบอกคล้าย ๆ กันนี้ว่าให้เลือกปล่อยฟีเจอร์ที่ผู้ใช้ได้ประโยชน์สูงสุดก่อน แล้วเดี๋ยวกำไรจะตามมาเอง)
วิธีคิดของคุณบิ๊ก คือ ให้ดูตามกฏ 80:20 ดูว่าฟีเจอร์ไหนที่อยู่ในส่วน 20% ที่เราทำแล้วมีคน 80% ใช้งาน นั่นเองครับ
Session 1.2 – Startup “ต้องรอด” ฉบับ Mega Genius
คุณบอยเป็นโปรแกรมเมอร์ที่อยู่เบื้องหลังโปรแกรมในตำนาน ชื่อ Mega Dict ที่หลาย ๆ คนน่าจะเคยเห็นกันครับ
ในงานนี้คุณบอยเล่าให้ฟังถึงชีวิตของตัวเองกว่าจะมาถึงจุดนี้ เคยได้เงิน 1 ล้านบาทจากกองทุนรวมวัน One Capital 1 ล้านบาท แต่เจอหุ้นส่วนไม่ดี แอบดึงเงิน 700,000 บาทไปใช้หนี้ของตัวเอง เลยตัดสินใจออกมา รับเงินเดือนแค่ 1,000 บาทประจำตำแหน่ง แล้วกลับไปอยู่ขอนแก่นเพื่อสร้าง Product ของตัวเอง
จากนั้นคุณบอยก็ยืมเงินน้ามา 10,000 บาท เพื่อเริ่มธุรกิจซอฟแวร์ Mega Dict ของตัวเอง ซึ่งชนะมาหลากหลายรางวัล และขายได้ถึง 30,000 ชุด โดยการไปออกบูทตามงาน Commart ขายในราคาชุดละ 800 บาท (30,000 x 800 = 24,000,000 บาทครับ เผื่อใครกำลังจะกดเครื่องคิดเลข)
แต่ก็มาถึงช่วงขาลงตอนที่ Google ปล่อย Google Translate ออกมาครับ เลยลองไปเล่นตลาดแอพมือถือแทน และได้สร้างแอพแรกชื่อ “เก่งไทย” เป็นแอพคัดลายมือสำหรับเด็ก
ซึ่งตอนแรกปล่อยฟรี ติด Top ใน App Store และมีคนโหลดวันละเป็นพัน แต่พอตั้งราคาขายเป็น $2.99 (ประมาณ 105 บาท) เหลือคนโหลดแค่หลักสิบ
จากนั้นก็เปิดบริษัทรับทำ Software ไปด้วย พร้อมกับทำ Product ของตัวเองชื่อ Gotcha เป็นระบบแปลอังกฤษ – ไทย ซึ่งได้รางวัลจาก SIPA Angel in the city และลงทุนสร้างทีมงานไปมหาศาล มี UX UI Designer Programmer ครบหมด
…แต่สุดท้ายผ่านไป 1 ปี พนักงานออกทั้งทีม ทิ้งงานไว้เป็นกองภูเขา คุณบอยจึงเฟลไปเกือบปี กว่าจะรวบรวมไฟกลับมาได้ และปัจจุบันกำลังสร้าง Startup Community ในขอนแก่น โดยนำประสบการณ์ของตัวเองมาถ่ายทอดให้คนรุ่นใหม่ ๆ
ทางทีมงาน GrowthBee.com ขอเป็นกำลังใจให้คุณบอยครับ 🙂
คำแนะนำสำหรับ Startup มือใหม่ จากคุณบอย
คุณบอยบอกว่า เราต้องหาตัวเองให้เจอว่าชอบอะไร และถนัดอะไร ก่อนจะเริ่มทำ เพราะเราไม่รู้ต้องขลุกกับมันไปถึงเมื่อไหร่
ส่วนการหาทีมงานมาทำด้วยกัน เค้าบอกว่าก็เหมือนหาแฟน ชอบคนแบบไหน อยากได้คนแบบไหน เราก็ต้องไปหาตามที่ที่รวมตัวคนแบบนี้ เช่น อยากได้โปรแกรมเมอร์ ก็ไปตามงานสัมมนาที่เกี่ยวกับโปรแกรมเมอร์
Session 1.3 – Startup “ต้องรอด” ฉบับ Vet Side
VetSide เป็น Community ถาม – ตอบของสัตวแพทย์ครับ ซึ่งได้รางวัลมาจากโครงการ True Incube นั่นเอง
คุณก้อง Co-founder ของทีม VetSide เล่าว่าตัวเองเป็นสัตวแพทย์ที่คอยดูแลฟาร์มเพาะเลี้ยงหอย ปลา กุ้งมาก่อน พอทำไปเรื่อย ๆ รู้สึกไม่ชอบงานที่เลี้ยงสัตว์ไปเพื่อถูกฆ่าเป็นอาหาร จึงออกมาทำ Product ของตัวเองชิ้นแรก คือ ทรายแมว
พอทำทรายแมวไป 4 เดือนก็เริ่มนำไปวางขายตาม Pet Shop หลายที่ แต่ยอดขายไม่ดีนัก จึงกลับมาคุยกับเพื่อนว่าจะทำอะไรดี ตอนนั้นทีมมี 3 คน คือ คุณก้อง เพื่อน และพี่ชายเพื่อนที่เป็นโปรแกรมเมอร์ เลยพยายามหาจุดร่วมว่าเราสามารถทำอะไรร่วมกันได้บ้าง
สุดท้ายเลยตัดสินใจทำ Tech Product สำหรับวงการสัตวแพทย์ และเข้ามาร่วมในการประกวด True Incube จนชนะมาได้
คุณปิ๊ปโป้ Storylog.co ซึ่งทำหน้าที่เป็นพิธีกรก็เสริมขึ้นมาว่า พวกโครงการ Incubator เช่น รายการ True Incube หรือ DTAC Accelerator เป็นรายการที่ช่วยให้คนมีไอเดีย แต่ไม่มีเงินทุน สามารถปั้นไอเดียของตัวเองเป็น Product ออกสู่ตลาดได้
ปัจจุบัน VetSide กำลังจะ Pivot เปลี่ยนกลุ่มเป้าหมาย หลังจากเอาข้อมูลจาก Google Analytics มาวิเคราะห์ (สำหรับท่านที่สนใจ ขอแนะนำบทความ การวัดผล Analytics ของ Startup) คุณก้องบอกว่าเนื่องจากการทำ Startup เรามีทรัพยากรจำกัด ทั้งด้านคนและด้านเงินทุน เพราะฉะนั้นเวลาตัดสินใจก็ต้องดูว่าสร้างสิ่งนั้นสำเร็จได้มั้ยจากทรัพยากรที่มีอยู่
คำแนะนำสำหรับ Startup มือใหม่ จาก VetSide
คุณก้องบอกว่าตอนแรกนึกว่าการทำ Startup ไม่น่ายาก แต่พอเริ่มทำรู้ไม่ง่ายอย่างที่คิด วงการนี้ต้องเรียนรู้เร็ว และเข้าให้ถูกจังหวะ บางทีไม่ต้องเรียนรู้เยอะหลาย ๆ ปีก็ได้
ส่วนการดูว่า Startup จะไปรอดมั้ยนั้นต้องพยายามหาคนจ่ายเงินให้เร็ว ถ้าทำไปแล้วมีคนใช้เยอะแต่ถ้าหาคนจ่ายเงินไม่ได้จะลำบาก
Session 2.1 – Startup “รอดแล้ว” ฉบับ Golfdigg
ใน Session ที่ 2 นี้จะเกี่ยวกับ Startup ต่าง ๆ ที่ได้ Funding กันมาแล้ว หรือขายไปแล้วครับ มาดูกันว่าประสบการณ์ของพวกเค้าเป็นอย่างไรบ้าง
Golfdigg เป็น Startup แอพพลิเคชั่นจองสนามกอล์ฟครับ ซึ่งเพิ่งได้เงินลงทุนจาก Invent (Venture Capital ของ AIS) ไปกว่า 23 ล้านบาทสด ๆ ร้อน ๆ
คุณแม็ก Co-founder ของ Golfdigg เล่าว่าก่อนหน้านี้เคยทำธุรกิจต่าง ๆ มากมาย ทั้งเปิดร้านสเต๊ก ร้านเกม แต่ทำแล้วไม่รอด เลยหันมาทำธุรกิจไอที รับทำ Application
ระหว่างที่รับงาน Outsource ก็ทำ Golfdigg นอกเวลางานไปด้วย โดยใช้เวลาช่วงดึก และเสาร์-อาทิตย์ค่อย ๆ ปั้นขึ้นมา ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับคนที่ชอบอ้างว่าอยากทำนู่นนี่แต่ไม่มีเวลาครับ สุดท้ายมันอยู่ที่ว่าเราจะหาเวลาทำมันหรือไม่ทำเท่านั้นเอง
พอคุณแม็กทำไปเรื่อย ๆ ก็มีคนมาใช้บริการเยอะขึ้น มีสนามกอล์ฟที่เป็น Partner เยอะขึ้น เมื่อมี Venture Capital มาเสนอเงินลงทุน คุณแม็กก็ตัดสินใจมาทำ Golfdigg เต็มตัว
คุณแม็กเล่าว่าการขอทุนจาก VC ใช้เวลานานกว่า 6 – 7 เดือน เพราะต้องมีการรายงานผล การเตรียมข้อมูล เตรียมเอกสารทางกฏหมาย และหลังจากได้รับเงินลงทุนแล้วก็ต้องทำรายงาน Budget ส่งให้ VC ทุกเดือนว่าจะเอาเงินไปทำอะไรบ้าง
แต่พอมี VC มาลงทุนแล้ว การติดต่อกับบริษัทใหญ่ ๆ ก็ง่ายขึ้นเยอะ เพราะการมี VC หนุนหลังสร้างความน่าเชื่อเพิ่มขึ้นอีกมหาศาล
Session 2.2 – Startup “รอดแล้ว” ฉบับ StockRadars
StockRadars เป็นแอพพลิเคชั่นสำหรับดูข้อมูลต่าง ๆ และแจ้งเตือนเกี่ยวกับหุ้นครับ โดยจุดขายคือ interface ที่ดูได้ง่ายว่าหุ้นไหนเป็นอย่างไรบ้าง
คุณแม็ก Co-founder ของ StockRadars เล่าว่าก่อนหน้านี้ทำ Software House รับเขียน Application ซึ่งก็มีลูกค้าเป็นบริษัทใหญ่ ๆ มากมาย แต่ทำไปเรื่อย ๆ แล้วรู้สึกว่างานพวกนี้มันเหมือนกับการขับแท็กซี่ ที่พอส่งลูกค้าคนหนึ่งเสร็จก็ต้องวิ่งออกไปหาลูกค้าคนใหม่
ด้วยความที่รู้สึกว่าชีวิตวนลูปไปเรื่อย ๆ และมันก็รันได้เองอยู่แล้ว เลยตัดสินใจหันมาทำ Product ของตัวเอง ซึ่งก็เคยคิดมา 12 ไอเดีย เอาไปให้คุณยอด Wongnai.com ดูแล้วโดนตีกลับมาว่ามันเยอะไป ให้กลับไปดูว่าจุดแข็งของเราคืออะไร เราทำอะไรได้ดีกว่าคนอื่นบ้าง
คุณแม็กจึงกลับมาคิด และพบว่าตัวเองเคยทำแอพพลิเคชั่นให้ Broker ต่าง ๆ มาเยอะ มีความสัมพันธ์อันดีกับ Broker เพราะฉะนั้นการทำ Product ในวงการนี้จึงน่าจะเป็นจุดแข็งของเค้า
แต่พอเริ่มทำตอนปี 2011 ก็เจออุปสรรคที่คนไม่ค่อยชอบหน้าตา Interface ของ StocksRadar ที่แสดงหุ้นเป็นแบบตารางธาตุ พอทำไปเรื่อย ๆ คนก็เริ่มเห็นข้อดี และมีแอพอื่น ๆ มาลอกหน้าตาไปอีก เลยทำให้รู้ว่าถ้าเราโฟกัสในสิ่งที่ทำมันก็จะเวิร์คเอง
การขอเงินลงทุนของ StockRadars
StockRadars มี Investor 2 เจ้ามาลงทุน ซึ่งคุณแม็กมองว่าการที่มีคนมาลงทุนก็เหมือนการแต่งงาน เค้าให้เงินเรามาก็เพื่อต้องการให้เราเติบโต
ตอนแรกคุณแม็กก็หวง Product ของตัวเองที่สร้างมากับมือ แต่พอทำไปเรื่อย ๆ ก็พบว่า Startup สาย Finance ต้องใช้เงินจำนวนมาเพื่อทำให้ตัวเองดูน่าเชื่อถือ ซึ่งก็มีการ Partner ร่วมกับ AIS และ Stock2morrow ที่ช่วยส่งเสริมตรงนี้ด้วย
พอมีนักลงทุนเข้ามา ก็เห็นการเติบโตอย่างเห็นได้ชัดจนมีผู้ใช้เพิ่มถึง 4 เท่าใน 1 ปี เพราะการทำงานกับ VC เป็นการบังคับให้เรา Monitor ค่าต่าง ๆ ตลอดเวลาว่าอะไรดีไม่ดี ทำให้ Product แน่นขึ้น
นอกจากนั้นยังได้พลัง Marketing เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ได้ Deal ที่ก่อนหน้านั้นติดต่อเท่าไหร่ก็ไม่เคยได้ ด้วยความที่ VC เป็นต่างชาติด้วย และคุณแม็กบอกว่าคนไทยชอบบ้าต่างชาติ เลยทำให้รู้สึกว่าอะไรที่ต่างชาติเชื่อในคุณภาพและมาลงทุนร่วมด้วย ดูมีภาพลักษณ์ที่ดีไปด้วย
อย่างไรก็ตาม คุณแม็กเตือนว่า “อย่าเอาเงินไปใช้ไร้สาระ เพราะเงินเป็นสิ่งที่ใช้แล้วก็จะหายไปเลย” ยิ่งเป็นเงินจาก VC ที่เราได้มาเพื่อฉีดยาเร่งโตใส่ Startup ของเรา ถ้าเงินหมดแล้วเราไม่สามารถ Raise Fund รอบต่อไปได้ทันก็จะตาย
คุณแม็กแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องการขอ Funding แต่ละรอบ ว่าต้องขอแบบพอดี ไม่ควรขอเยอะหรือน้อยเกินไป ไม่อย่างนั้นการขอ Funding รอบต่อไปจะยากขึ้นเยอะ
Session 2.3 – Startup “รอดแล้ว” ฉบับ Think of Living
ThinkOfLiving เป็นเว็บไซต์รีวิวอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทมาซื้อไปแล้ว ถือว่าเป็น Startup ที่ Exit เรียบร้อยครับ (คำว่า Exit ในวงการ Startup คือ มีคนมาซื้อต่อ)
คุณเธียรรุจ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Think of Living เล่าว่าก่อนหน้านี้เคยทำสตาร์ทอัพแรกตอนปี 1999 ก่อนยุคฟองสบู่แตก โชคดีว่าขายไปได้ก่อนฟองสบู่แตก เลยรอดมาได้
จากนั้นก็ทำธุรกิจขนาดเล็กไปเรื่อย ๆ แล้วเอาประสบการณ์ที่ล้มลุกคลุกคลานก่อนหน้านี้มาทำ Think of Living ซึ่งก็เจอปัญหาบ้างในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำ ไม่มีลูกค้าซื้อโฆษณา เราก็ต้องอยู่รอดให้ได้ในช่วงนั้น
สิ่งสำคัญของการทำ Think of Living คือ ต้องทำ Content ให้ดี (ท่านใดสนใจเรื่อง Content แนะนำให้อ่านบทความ สรุปทุกอย่างเกี่ยวกับ Content Marketing พร้อมตัวอย่างประกอบ ครับ) จากนั้นก็ติดต่อลูกค้าที่น่าจะซื้อโฆษณาแต่ละเจ้าว่าสนใจมั้ย
คำแนะนำเรื่องการ Exit จากคุณเธียรรุจ
คุณเธียรรุจเล่าว่าตลาด Real Estate (อสังหาริมทรัพย์) ในแต่ละประเทศมีทั้งช่วงที่ขึ้นได้กำไรเยอะ และช่วงที่ลงเพราะไม่มีใครสนใจซื้อ เพราะฉะนั้นการที่ Think of Living ไปอยู่ในมือบริษัทระดับโลกย่อมดีกว่า เพราะบริษัทสามารถกระจายความเสี่ยงของตลาด Real Estate ของประเทศที่อยู่ในขาลง กับประเทศที่อยู่ในขาขึ้นได้
ในเรื่องของการ Raise Fund คุณเธียรรุจให้ความเห็นว่าการ Raise Fund ไม่ต่างอะไรกับการเล่นแชร์ลูกโซ่ นักลงทุนผลัดกันซื้อทีละคน จนมาถึงคนสุดท้ายต้องจ่ายในราคาแพงที่สุด
สุดท้ายแล้วไม่ว่าเราจะทำ Startup ที่ดูดีแค่ไหน สุดท้ายมันก็คือธุรกิจเหมือนกัน ต้องมีกำไร ขาดทุน
Session 2.4 – Startup “รอดแล้ว” ฉบับ Moxy
มาถึงวิทยากรท่านสุดท้าย คือ คุณแชนนอน Co-founder ของเว็บไซต์ E-Commerce ชื่อ Moxy ที่เน้นขายสินค้าสำหรับผู้หญิง ซึ่งตอนนี้ควบรวมกิจการ (Merge & Acquisition) กับบริษัทในเครือ Ardent Capital เรียบร้อยแล้ว
คุณแชนนอนเล่าว่าก่อนหน้านี้เคยทำงานอยู่ที่ Price Waterhouse และ Lehman Brothers จากนั้นก็ไปเป็นผู้บริหารที่สิงห์ ก่อนจะออกมาเปิดบริษัท Advisory ของตัวเองกับเจ้านายเก่าที่ฟิลิปปินส์
หลังจากทำบริษัท Advisory ก็พบว่าต้องคอยวิ่งหางานตลอดเวลาเพื่อให้บริษัทอยู่รอด เลยอยากทำ Product ที่เป็นของตัวเอง แต่ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร
เลยกลับไทยมา แล้วทำงานที่ Lazada ก่อน เข้าไปทำงานตอนมีพนักงาน 2 คน จนผ่านไปสองเดือนก็ลาออก เพราะตอนนั้นเห็น Lazada ไม่ยอมทำ Localization สักที เลยตัดสินใจออกมาทำ E-Commerce ของตัวเองดู
การ Raise Fund และ Merge ของ Moxy
พอคุณแชนนอนออกมาทำ Moxy ก็ Raise Fund แล้วบริษัทโตขึ้น จนถึงช่วงที่ลองคำนวณออกมาแล้วว่าจะมีเงินเหลือในบริษัทให้รันได้อีก 6 เดือนเท่านั้น ก็เลยต้องไปตามหานักลงทุนคนใหม่ แต่หาในไทยก็ไม่มี เพราะตอนนั้นบริษัท Scale ใหญ่มาก
นับเป็นเรื่องดีที่มีโอกาสได้ไปร่วมงาน Echelon (งานที่รวมตัว Tech Startup จากทั่วโลก) ที่สิงคโปร์ แล้วพอกลับไทยมาก็ได้ขึ้นเวทีไปพูด จึงมีนักลงทุนที่สนใจติดต่อมากว่า 50 เจ้า คุยไปคุยมาสุดท้ายได้มา 2 เจ้าที่โอเค
ซึ่งตอนนั้นก็มี 2 ตัวเลือก คือ จะเลือกที่แรกเพื่อเอาเงินลงทุนมารันธุรกิจต่อไปเอง หรือจะเลือกควบรวมกิจการกับบริษัทในเครือ Ardent Capital ที่มี aCommerce และบริษัทอื่น ๆ อยู่ในมือ คุณแชนนอนบอกว่าเหมือนกับการไปอยู่ในดรีมทีม
สุดท้าย คุณแชนนอนจึงเลือกควบควมกิจการ (Merge & Acquisition) ในที่สุด
แถมท้าย – จะเริ่มทำ Tech Startup หรือ Non-Tech Startup ดีกว่ากัน ?
ในช่วงท้ายของงานก็มีการถาม – ตอบกับวิทยากรบนเวที ซึ่งมีคำถามหนึ่งที่ผมชอบมาก คือ เราควรทำ Tech Startup (Startup ที่เกี่ยวกับ Technology) หรือ Non-Tech Startup ดีกว่ากัน
จริง ๆ มันไม่มีเส้นคั่นระหว่าง Tech กับ Non-Tech Startup เพราะทุกธุรกิจก็ต้องใช้ IT ด้วยกันทั้งนั้น – คุณเธียรรุจ Think of Living
คุณแม็ก StockRadars ให้ความเห็นว่าการทำ Tech Startup มีข้อดี คือ มีอะไรให้เล่นเยอะ เข้าถึงคนได้ง่าย Scale ได้ง่าย เพราะทุกอย่างอยู่บนอินเตอร์เน็ต
คุณเธียรรุจ Think of Living บอกว่าจริง ๆ มันไม่มีเส้นคั่นระหว่าง Tech กับ Non-Tech Startup หรอก เพราะทุกธุรกิจล้วนต้องใช้ IT ด้วยกันทั้งนั้น และยิ่งถ้าเราดูในตลาดหุ้นในไทย ธุรกิจใหม่ที่เข้าสู่ตลาดหุ้นทุกปี ไม่มีบริษัทไหนที่เป็น Internet Company เลย
อย่างไรก็ตาม ข้อดีของ Tech Startup คือ มันมี Barriers to entry (อุปสรรคที่จะทำให้คนอื่นมาทำตามเราได้ยาก) ที่คนในอุตสาหกรรมนี้เท่านั้นที่จะทำได้
คุณแชนนอนเสริมว่า การทำ E-Commerce เป็นแค่ Mechanism หนึ่งในการขายของเท่านั้น ซึ่งข้อดี คือ Scale ได้ง่ายกว่าการไปเปิดร้านค้าตามสถานที่ต่าง ๆ และไม่ต้องมีหน้าร้าน หรือมี Warehouse เป็นของตัวเอง
สำหรับงาน Startup “ต้องรอด” ก็จบไปพร้อมกับความรู้ดี ๆ มากมายที่ได้แบ่งปันกันไปด้านบนครับ หากมีคำถามอะไร ตรงไหนอธิบายไม่เคลียร์ หรือบางส่วนที่อธิบายผิด ก็สามารถแจ้งได้นะคร้าบ ยินดีปรับแก้เพื่อให้ข้อมูลเป็นประโยชน์กับผู้อ่านมากที่สุดครับ 🙂
สำหรับงานนี้ต้องขอขอบคุณ Thailand Tech Startup Association และวิทยากรทุกท่านที่สละเวลามาให้ความรู้ครับ หวังว่าปีหน้าจะมีงานดี ๆ แบบนี้อีกนะครับ
ส่วนในอนาคตถ้ามีงานดี ๆ ที่ทางทีมงาน GrowthBee ออกค่าบัตรไหว (หรือถ้ามีบัตรสื่อฟรีก็ยินดีครับ ติดต่อได้ใน Message Facebook เลย :D) ก็จะนำมาเขียนเล่าให้ฟังกันอีกครับ
หากมีข้อเสนอแนะ ติชม สามารถมาพูดคุยกันได้ในส่วน Comment ด้านล่างเลยครับ หรือจะแวะมาคุยกันที่เพจ GrowthBee หรือกรุ๊ป Thai Growth Hackers ก็ได้เช่นกันครับ
สุดท้ายนี้ ถ้าท่านสนใจเทคนิคดี ๆ ในการพัฒนาธุรกิจ / Startup ของคุณ และอยากอ่านบทความใหม่ ๆ จากเราก่อนใคร สามารถทำการลงทะเบียน Email ในกล่องสีเหลืองด้านล่างนี้ได้ครับ
ถ้าชอบ รบกวนกดไลค์ กดแชร์ เป็นกำลังใจให้เว็บเปิดใหม่กับทีมงานกลุ่มเล็ก ๆ นี้ครับ